หลายๆครั้ง ที่ผมมีเวลาว่าง นอกเหนือจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับบ้านแล้ว
การไปตระเวณดูบ้านตามโครงการที่เค้าสร้างขาย ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมทำบ่อย
ซึ่งการไปดูบ้านในแต่ละหลัง ผมจะมีความรู้สึกแยกเป็น 2 ส่วนเสมอ
อย่างแรก คือหน้าตาบ้านและการตกแต่งนั้น ดูดีมีสไตล์แทบทุกๆที่เลย
คือมันดึงดูดให้เรา อยากวางเงินจองเสียเดียวนั้น แน่นอน
ผมว่าหลายคนหนีไม่รอดภาวะนี้ ยิ่งมีโปรโมชั่นพ่วงกับการขายบ้านอีก
แถมรถ แถมโทรศัทพ์ หรืออยู่ฟรีๆ กี่ปีๆ ก็ว่ากันไป
แต่อย่างที่สองนั้น คือความรู้สึกแปลกๆ ที่บ้านหลังนั้นแสดงออกมา
ซึ่ง เมื่อก่อนนั้น ผมเองก็ยังไม่สามารถแปลความรู้สึกตรงนั้นออกมา
ว่าจริงๆ มันคืออะไร แต่ที่แน่ๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่า บ้านส่วนใหญ่ๆที่เห็น
เวลาที่เข้าไปอยู่จริงๆ มันไม่น่าจะอยู่สบายเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ
ความดูดีของหน้าตาภายนอกบ้าน คือมันทำให้ผมต้องเอ๊ะ ต้องสงสัยตลอด
ว่าอันนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ อันนี้ทำใมออกมาเป็นแบบนั้น
จนเมื่อวันหนึ่ง หลักจากที่สะสมชั่วโมงบินในการเยี่ยมชมบ้านในกรุงเทพ
ไปเสียหลายที่ แน่นอนว่า ตอนที่ผมมาเที่ยวเชียงใหม่ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่นี่
ก็หนีไม่รอด ที่ต้องไปดูบ้านเช่นเดียวกัน
เมื่อทุกๆอย่างประจวบเหมาะ ทันใดนั้น
ในสมองผมก็ปรากฏภาพคำตอบ เรื่องแบบบ้านหรือบ้านสั่งสร้างในเมืองไทย
หรือเอาแค่พื้นที่ในเชียงใหม่
ที่ผมคาใจมาโดยตลอด ว่ามันคืออะไร
คำตอบนั้นก็คือ
บ้านส่วนใหญ่ มีการออกแบบ “ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง”
และ”ไม่อิงกับเรื่องสรีร”นั่นเอง
เรียกว่า พอคำตอบ 2 ตัวนี้แว่บมาในหัว
ตัวผมถึงกับต้องเด้งจากเตียงนอน แล้วรีบมาเขียนบันทึกไว้กันลืมกลางดึกเลย
ซึ่งเจ้าปัญหา 2 ตัวนี้นั้น แสดงออกอย่างชัดเจน ตั้งแต่ตอนอยู่บนแปลนบ้านแล้ว
ใช่ครับ แปลนบ้านที่เค้าโชว์ให้เราเห็นกันตอนขายบ้านนั่นแหละ
แต่ที่คนเราไม่ค่อยรับรู้ถึง การมีอยู่ของปัญหาที่ว่า
ก็เพราะ 2 เหตุผลเช่นเดียวกัน เหตุผลแรก คือ หน้าตาการตกแต่งมันสวย
มันทำให้เราหลงใหล ฝันใหญ่ ไปกับบ้านหลังนั้น จน ลืมคิด ลืมระวังนั่นเอง
ใหนจะมีความคิดเหมารวมอีกว่า คนออกแบบเค้าคิดมาดีแล้ว สมทบเข้าไปอีก
เรียกว่า ทั้งลืมคิด และคิดไม่ถึง รวมๆกันไป
เหตุผลที่สองก็คือ การดูแปลนบ้านสำหรับคนส่วนใหญ่นั้น มักจะดูเพื่อแค่ให้ตัวเองรับทราบว่า
บ้านหลังนั้น มีฟังก์ชั่นอะไร อยู่ตรงใหน แค่เพียงเท่านั้น ก็ถือว่าบ้านนี้มีครบ จบ หรือเพียงพอ
ดังนั้นการวิเคราะห์ หรือแปลความแปลนบ้าน ว่าบ้านหลังนั้น
มันสอดคล้องกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงหรือเปล่า และฟังก์ชั่นในบ้านที่มี
มันใช้งานได้จริงๆหรือไม่
จึงเป็นกระบวนการ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
และเจ้าของบ้าน จะเริ่มรู้ตัว ก็ต่อเมื่อ เสียเงินซื้อไปและย้ายเข้าอยู่แล้วนั่นเอง
ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่สามารถถอยหลังกลับไปแก้ไขตัวแปลนบ้านก่อนสร้างอะไรได้อีก
ซึ่งสองปัญหานี้ มันส่งผลกระทบกับตัวเจ้าของบ้านเต็มๆเลย
เพราะมันทำให้เจ้าของบ้าน อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นแบบติดๆขัดๆ
มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยจะดีนัก และมันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
หรือไม่ได้เลย เพราะมันมีเรื่องตำแหน่งงานโครงสร้างมาเป็นตัวบังคับ
ทำให้การแก้ไขฟังก์ชั่นนั้นๆ ต้องใช้เงินมากและทุกอย่างจะดูแย่มากกว่าเดิม
ยิ่งเมื่อเรานำปัญหาไปเทียบกับราคาบ้าน ที่เราต้องจ่ายออกไปตั้งแต่ตอนแรก
และตอนนั้นแหละ ที่เราจะรู้สึกว่า บ้านที่เรารู้สึกดีแต่แรก
ได้เปลี่ยนความรู้สึกตัวเราไปเรียบร้อยแล้ว
โดยปัญหาที่ว่านี้ ไม่เลือกว่า จะเป็นบ้านราคาถูกหรือแพงแค่ใหน
ก็มีปัญหานี้ได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่หากยิ่งมันไปปรากฏอยู่ในบ้านที่แพงมากเท่าไหร่
ความรู้สึกขาดทุนหรืออารมณ์ขุ่นมัวก็ยิ่งมากตามไปเท่านั้น
เพราะต้นตอปัญหาจริงๆนี้ เกิดจาก ตัวคนออกแบบนั่นเอง
ที่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดว่า แปลนบ้านที่ตนเองทำขึ้นมา
มันจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอนมันถูกสร้างขึ้นมาเป็นบ้านจริงๆ
และเจ้าของบ้าน ก็ไม่เคยตั้งคำถามถึงคุณภาพแบบบ้าน
ว่ามันดีพอที่จะไม่สร้างปัญหาอะไร
ในตอนที่นำแบบบ้านไปสร้างขึ้นมาจริงๆ
มาถึงตรงนี้ ผมเสริมให้อีกนิดนะครับว่า
หลังจากที่แปลนบ้านถูกนำไปสร้างจริงแล้ว หากเกิดปัญหา
คนที่ต้องตามมารับผล รับผิดชอบ มักจะกลายเป็นตัวผู้รับเหมา
หรือเจ้าของบ้าน แทนที่จะเป็น ผู้ที่ออกแบบบ้านหลังนั้น
จนมันกลายมาเป็นปัญหา
เรียกว่า ทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมารับเป็นผู้รับเคราะห์ไปเต็มๆ
( ปัญหาที่เกิดจากผู้รับเหมาก็มีนะ แต่มันแยกง่ายมากเลย
ว่าอันใหนเกิดจากคุณภาพแบบบ้าน อันใหนเกิดจากผู้รับเหมา
เรื่องนี้เอาไว้คุยกันในตอนต่อๆไป )
และก็ปัญหาพวกนี้ ผมต่อให้ดูฤกษ์ ดูยาม นับเวลาในระดับมิลลิวินาที
หรือจะเชิญอาจารย์หมอเก่งแค่ใหน ก็แก้ปัญหาพวกนี้ไม่ได้
หากบ้านเรามีปัญหาเหล่านี้อยู่
เพราะแปลนบ้าน คือ สิ่งที่กระทบและเชื่อมโยงกับตัวเรา
ไม่ใช่หน้าตาบ้าน หรือฤกษ์ ดวงอะไรทั้งนั้น
พูดมาตั้งนาน ก็น่าจะถึงเวลายกตัวอย่าง
ให้ทุกคนได้เริ่มเห็นภาพกันเสียที
กับบ้านที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะการอยู่อาศัย
ที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงและไม่อิงกับสรีรการใช้งานให้
เอานี่เลยครับ เรียกน้ำย่อย จากหน้าบ้านกันก่อน นั่นคือ โรงจอดรถ
มันมี 2 อย่าง ที่คนออกแบบบ้าน หรือสถาปนิค ดีไซน์เนอร์
มักทำกับแบบโรงจอดก็คือ
1.ทำโรงจอด 2 คันที่มีขนาดความกว้างเพียง 5 - 5.5 m
นี่ยังไม่รวมข้อผิดพลาดหลายครั้ง ที่ใช้ระยะผนังด้านนอกด้วยนะ
ทำให้ต้องลดระยะจริงด้วยความหนาผนังไปอีก 10-20 cm
ส่งผลให้ขนาดกว้างจริงของโรงจอด ยิ่งลดลงจากระยะในแบบ
หรือแคบลงไปอีกนั่นเอง
2.มักมีงานก่อผนัง ของอีกฝั่งโรงรถ ซึ่งกำแพงฝั่งหนึ่งคือตัวบ้าน
และอีกฝั่งจะดีไซน์งานก่อผนังขึ้นมา เดาว่า คงมีเป้าหมายเพื่อตกแต่ง
แล้วที่ว่า การออกแบบนี้ ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงยังไง
คำถามก็คือ ตอนเขียนแบบบ้านนั้น คนออกแบบเค้าลืมไปหรือเปล่าว่า
“โลกความเป็นจริง” รถ 1 คันนั้น มีความกว้างอยู่ราวๆ 2 m
และประตูรถนั้นเกือบ 100% เป็นแบบสวิงออก
ทีนี้ลองนึกภาพตามนะครับ
เมื่อรถ 2 คัน ที่มีความกว้าง 2 เมตร เข้าไปจอดในโรงรถ
จะเท่ากับว่า รถกินพื้นที่ไปแล้วถึง 4 เมตรด้วยกัน
หากโรงรถมีความกว้าง 5 เมตร เราจะเหลือ พื้นที่เดินเข้าออกรถ
เพียง 30 เซนติเมตร นี่ผมยังไม่เผื่อเหลือ เผื่อขาดจากการที่
ก่อผนังเอียงไป หนาไป ฯลฯ ที่จะยิ่งทำให้ระยะจริงเล็กกว่าเดิมไปอีก
คำถามคือ ระยะความกว้างที่ว่า คุณจอดรถได้แน่ๆล่ะ
จอดได้แต่จะออกจากรถยังไงก่อนดีกว่า นี่ละคือประเด็น
บ้านบางหลังอาจได้ระยะโรงจอดที่กว้างกว่า 5 m
แต่ก็กลับกลายเป็นว่า
มีผนังที่ไม่จำเป็นงอกออกมา มากีดขวางการเปิดประตูให้ลำบากขึ้นหลายเท่า
ตำแหน่งผนังที่ก่อ ก็ช่างพอดี กับตำแหน่งเปิดประตูเสียด้วย
คือไม่รู้จะมีผนังอันนี้เอาไว้ทำไม เวลาก่อก็เสียตังค์
แถมยังทำให้จอดรถแล้วออกลำบาก หรือออกไม่ได้
สรุป คือเสียเงินซื้อปัญหาชีวิตมานี่นา
สังเกตดูในแปลนเอานะครับ คือฟังก์ชั่นในแปลน
มันดูเป็นโลกอุดมคติมากๆ สมบูรณ์แบบไปหมด
(แถมเจ้าของบ้าน คนจ่ายตังค์ค่าแบบ ก็ไม่เอะใจเสียด้วย)
ระยะนี้น่ะ อย่าว่าแต่ประตูสวิงเลย ต่อให้เป็นรถประตูสไลด์
ระยะนี้ก็ยังออกลำบากเลยครับ
คนแข็งแรงปกติ นี่เข้าออกรถแบบนี้แทบจะหมดสิทธิ์
นึกภาพเวลาไปจอดรถตามห้างเอาเถอะครับ
แขม่วพุงกันสุดชีวิต ไหนจะอารมณ์เสีย เพราะเปิดประตูรถ
ไปกระแทกกับรถข้างๆหรือผนังจนบุบอีก
ที่หนักไปกว่านั้น เราอาจเจอผังจอดรถแบบนี้
ในบ้านที่เค้าโฆษณากันว่า สร้างมารองรับผู้สูงอายุบ้าง
รองรับรถเข็นบ้าง นี่ยิ่งไปกันใหญ่เลย
ไม่มีทางใช้งานได้แน่นอน
ผมหมายถึงจอดรถให้ได้สองคันตามแปลนนะครับ
ก็ในเมื่อ เค้าจะออกแบบมาให้จอดสองคัน
ก็ต้องสามารถใช้งานได้ในชีวิตจริง
คือความหมายที่ผมพยายามจะสื่อ
เริ่มเห็นปัญหาชีวิตแล้วใช่ใหมครับ
แต่สิ่งที่ผมพูด เวลาอยู่บนแปลนบ้าน บนกระดาษ บนไฟล์ภาพ
มันไม่แสดงปัญหาให้เราเห็นนะครับ
มันดูสมบูรณ์แบบไปหมด
แต่มันกลายเป็นคนละเรื่องทันที
ตอนที่แปลนบ้านกระดาษ ถูกสร้างกลายเป็นบ้านจริง
กลายเป็นสามมิติ
สังเกตดูนะครับ บ้านหลายหลังที่มีปัญหาเรื่องจอดรถ
มักลงเอยด้วยการ ไปจอดเอาหน้าบ้าน
หรือหน้าบ้านของคนอื่นแทน
ก็ไปเกิดปัญหาทะเลาะกับเพื่อนบ้าน
หลายครั้ง ที่มีประเด็นต่อยตีหรือถึงขั้นยิงกันจนเสียชีวิต
ก็มาจากสาเหตุแบบนี้ อย่างที่เราไม่รู้ตัวครับ
นี่ขนาด นับก้าว ดูวันก่อนเข้าบ้านแล้วนะ
ผมไม่ได้หมายถึง เพื่อนบ้านบางคนที่ตั้งใจ จงใจ
เอารถไปจอดไว้หน้าบ้านคนอื่น
ประมาณว่าต้องการให้หน้าบ้านตัวเองกว้างๆไว้
เลยไปละเมิดสิทธิคนอื่น อันนี้เป็นเรื่องเห็นแก่ตัวมากกว่า
เราแยกๆประเด็นไป จะเข้าใจกันได้ง่ายมาก
แต่ผมกำลังพูดถึงปัญหาที่เกิดจาก การที่บ้านถูกออกแบบมา
ทำให้เจ้าของบ้านไม่สามารถใช้งานบ้านจริงได้
อย่างที่บนแปลนหน้ากระดาษมันแสดงเอาไว้
ไอ้อย่างนี้นี่แหละครับ ที่ผมว่า ต่อให้ดูฤกษ์ ดูยาม ตามหมอ
แต่ไม่ได้ดูแปลน แบบวิเคราะห์ตามชีวิตจริงและอิงสรีรการใช้งานไว้
ชีวิตก็ราบรื่นได้ยากครับ เจอปัญหาชีวิตแน่นอน
เพราะการไปทำสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้น
มันไม่มีเทพใดๆ บินลงมา แก้ไขระยะฟังก์ชั่นต่างๆของตัวบ้านที่มันผิดเพี้ยนไป
ฟิ้วววว ลูกเอ้ย พ่อมาช่วยย้ายระยะบ้านที่ผิดให้แล้ว
อย่าลืมหัวหมูนะเอ้ยย .......!!
ไม่มีครับ ไม่มี
ผนัง หรือเสา หรือระยะที่มันไม่เหมาะ มันก็ยังคงอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน
ถ้ารถจอดแล้วออกไม่ได้ มันก็ยังคงออกไม่ได้
ไม่มีใครเปลี่ยนความเป็นจริงนี้ได้
นอกจากเราจะแก้มันตั้งแต่ตอนที่เป็นแปลนเท่านั้น
ปัญหาหลอนๆแบบนี้ มีแค่โรงรถใช่ใหม
ไม่แน่นอนครับ โรงรถเนี่ย เป็นแค่โหมโรงเอง
ผมเจออะไรในบ้านที่มันแปลกๆกว่านี้อีก
ไว้ค่อยๆเขียนไป ทีละหน่อยๆละกัน
มีฟังก์ชั่นบ้านที่แปลกๆ เก็บไว้เป็นข้อมูลเยอะเลย
แต่ตอนที่ 2 นี้ก็เริ่มยาวละ ผมขอตัดไปตอนต่อไปอีกทีนะ
ง่วงละคร้าบบ
ส่วนใครที่อ่านบล้อกเรื่องบ้านของผมแล้วรู้สึก"เอ๊ะ" ขึ้นมา
มันคล้ายๆ กับเป็นปัญหาที่เคยเจอมาก่อน
แต่มันไม่รู้จะอธิบายออกมายังไง
เราอาจกำลังคิดและมองในสิ่งเดียวกันอยู่ก็เป็นได้
ก็ลองส่งความเห็นมาแบ่งปัน พูดคุยกันดูนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น